7 เทคนิคปรับพฤติกรรมลูก
เริ่มจากกิจกรรมในครอบครัว
ถึงวันหยุดสุดสัปดาห์กันแล้ว
หลายครอบครัวคงดีใจและใช้เวลาวันเสาร์-อาทิตย์ทำกิจกรรมร่วมกัน แต่ก็มีบ้าง
บางครอบครัวที่ทำกิจกรรมกับลูกตัวน้อยจริง แต่ไม่ว่าลูกจะทำอะไรก็ "อย่า ไม่
ห้าม" กันตลอด จนเด็กหงุดหงิด ผู้ปกครองห้ามมาก ๆ ก็(เริ่ม)อารมณ์ไม่ดี
พาลทำให้กิจกรรมวันหยุดไม่สนุกเสียนี่
วันนี้เราจึงมองหาเทคนิคดี ๆ ที่จะช่วยสร้างบรรยากาศอบอุ่น
- สนุกสนานให้เกิดขึ้นอีกครั้งมาฝาก ส่วนจะมีอะไรบ้างนั้น ไปติดตามกันเลย
1. เมินเฉยกันบ้าง ถ้าหากพฤติกรรมนั้น
ๆ ของลูกไม่ใช่การทำลายข้าวของ ทำร้ายสัตว์ - คนให้บาดเจ็บ
หรือเป็นพฤติกรรมที่คุณไม่สามารถยอมรับได้จริง ๆ ลองทำเป็นไม่สนใจเมื่อเห็นพฤติกรรมเหล่านั้น
บางครั้งการแสดงออกของผู้ปกครองด้วยการลงไปห้าม
อาจเป็นการส่งเสริมให้เด็กทำพฤติกรรมนั้นซ้ำอีก เพราะแกได้เรียนรู้ว่า
ทำแล้วสามารถเรียกร้องความสนใจจากพ่อแม่ได้ ดังนั้นในบางกรณี
การไม่สนใจก็ทำให้ลูกเลิกทำสิ่งที่คุณไม่ชอบได้เช่นกัน แถมไม่ต้องอารมณ์เสีย
คอยห้ามทัพกันตลอดด้วย
2. สอนลูกเรื่องเหตุและผล หากจะปรับพฤติกรรมของลูกให้ดีขึ้น
การสอนให้ลูกเข้าใจเรื่องเหตุและผลเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยที่ดี
เพราะจะทำให้เด็กเข้าใจว่า
หากเขาตัดสินใจทำบางสิ่งบางอย่างลงไปแล้วผลที่เกิดกับเขาจะเป็นอย่างไร
ไม่เพียงเท่านั้น ลองให้ลูกได้มีโอกาสเลือกทำในสิ่งที่เขาต้องการ
แล้วยอมให้เขาได้รับผลของมันบ้าง
(แต่ต้องเป็นสิ่งที่พ่อแม่พิจารณาแล้วว่าไม่เป็นอันตราย)
ประสบการณ์ที่เขาได้รับจากการเลือกของตนเองจะทำให้เขาฉลาดเลือก
และฉลาดทำมากขึ้นในครั้งต่อ ๆ ไป
3. เอ่ยปากชม การเอ่ยปากชมลูกเมื่อเขาทำตัวน่ารัก
หรือทำสิ่งที่เหมาะสมถือเป็นตัวช่วยทรงพลังให้กับการสร้างลักษณะนิสัยที่ดีในเด็ก
เพราะโดยมากเมื่อเด็กทำพฤติกรรมอะไร เขาก็มักจะอยากได้รับการตอบสนองจากพ่อแม่
แต่ก็ต้องใช้เทคนิคนี้อย่างเหมาะสมด้วย ไม่ใช่ชมกันจนพร่ำเพรื่อ
4. หลีกเลี่ยงคำพูดแย่ๆ พ่อแม่บางคนเลือกใช้คำประชดประชัน
กดดันลูก เพื่อหวังให้เด็กมีแรงฮึด แต่อาจใช้ไม่ได้เสมอไป
เพราะเด็กบางคนเมื่อเจอคำพูดไม่ดีๆ จากพ่อแม่ (ที่หวังดี) เหล่านั้น
เขาก็เลยเลิกล้มความตั้งใจที่จะทำดีไปเสียเลยก็มี อีกประการหนึ่ง
หากพ่อแม่หวังจะปรับให้ลูกเป็นคนดี มีพฤติกรรมที่ดี มีประสบการณ์ที่ดี
ก็ไม่เห็นจำเป็นต้องเริ่มจากสิ่งไม่ดี หรือคำพูดไม่ดีๆ
5. มีเทคนิคการให้รางวัล
(ที่ดี) บางครั้งการใช้ของรางวัลล่อใจก็ช่วยให้ปรับพฤติกรรมลูกไม่น่าเบื่อเกินไป
แต่พ่อแม่ก็ต้องระวังในจุดนี้ด้วย ไม่ให้ลูกหวังของรางวัลทุกครั้งที่ทำความดี
เทคนิคการให้รางวัลกับลูก ๆ ด้วยวิธีนี้อาจทำเป็นตารางความดีของลูก บันทึกความดี
(หรือก็คือพฤติกรรมดีๆ ที่คุณอยากส่งเสริมให้เขาทำนั่นเอง) แปะข้างฝาเอาไว้ให้เห็นเด่นชัด
เขาก็จะเห็นความดีของเขาพุ่งขึ้นเรื่อย ๆ ตามการบันทึก
และทำให้การให้รางวัลของพ่อแม่ดูดีมีเหตุผลมากขึ้นด้วย
6. เตือน เด็ก ๆ
มักลืมง่าย
โดยเฉพาะเขามักลืมสิ่งที่พ่อแม่ต้องการให้เขาทำเมื่อมีบางสิ่งบางอย่างมาล่อใจ
(เช่น เกม ทีวี เป็นต้น) การเตือนของพ่อแม่ช่วยให้เขากลับมาอยู่ในร่องในรอยได้อีกครั้ง
ความลับของข้อนี้คืออย่าเตือนในลักษณะของการบ่น แต่อาจเป็นการบอกให้รู้เป็นนัยๆ
หรือใช้คำโค้ดลับที่ทราบกันในครอบครัว เมื่อเด็กเข้าใจ "สาร"
ที่พ่อแม่ส่ง เขาก็จะทำในสิ่งนั้น ๆ โดยที่พ่อแม่ไม่ต้องออกคำสั่งเลย
7. ว่าด้วยเรื่องของสิทธิพิเศษ สิทธิในการใช้โทรศัพท์
สิทธิในการดูทีวี เล่นเกม ฯลฯ
เหล่านี้พ่อแม่สามารถสั่งระงับได้หากลูกมีพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ เช่น
ไม่ยอมทำการบ้าน ไม่ทำงานบ้านที่ได้รับมอบหมาย
การสอนเช่นนี้จะทำให้ลูกรู้จักรับผิดชอบในงานมากขึ้น
และเข้าใจคุณค่าของสิทธิพิเศษที่เขาได้รับด้วย
วันหยุดทั้งที ลองเปลี่ยนกิจกรรมที่เต็มไปด้วยเสียงบ่น
เสียงห้าม มาเป็นกิจกรรมที่เสริมสร้างคุณลักษณะดีๆ ของเด็กให้เด่นชัดขึ้นจะดีกว่า
ไม่แน่ว่าอาจทำให้สุดสัปดาห์นี้เต็มไปด้วยเสียงหัวเราะของทุกคนในครอบครัวก็เป็นได้
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น