ทีวี.. แทนพี่เลี้ยงเด็กไม่ได้

"‘ทีวี’ แทนพี่เลี้ยงเด็กไม่ได้"By atirach

 


“ออทิสติก” คำนี้อาจทำให้ พ่อ แม่ หลายคนเป็นกังวลกับอาการที่ลูกเป็น และต้องเร่งพาลูกไปพบกุมารแพทย์เพื่อวิจัย
วิธีนี้ถือเป็นความกังวลที่ช่วยป้องกันไม่ให้เหตุการณ์บางอย่างบานปลายจนเกินแก้ไข โดยเฉพาะเมื่อคนที่กำลังถูกพูดถึงคือ “ลูก”
ไม่ค่อยทำตามคำสั่ง ไม่สบตา พัฒนาการทางภาษาช้า พูดภาษาที่ฟังไม่รู้เรื่อง ในเด็กบางราย 2-3 ขวบแล้วแต่ยังไม่พูด หรือพูดได้เป็นคำเดี่ยวๆ เหล่านี้ไม่ได้จบที่ออทิสติกเสมอไป หากแต่เป็น “ทีวี” ภัยใกล้ตัวที่ พ่อ แม่ คาดไม่ถึง
ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการดูทีวี ได้รับการอธิบายจาก นพ. กมล แสงทองศรีกมล ว่า ในแง่ของพัฒนาการผู้ใหญ่หรือวัยรุ่นอาจได้รับผลกระทบน้อยกว่าเด็ก
โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ ที่ดูนาน 6-8 ชั่วโมงต่อวัน และมักไม่ใช่เด็กที่ดูทีวีแบบช่วงสั้นๆ หรือดูแต่โฆษณาที่ชอบแล้วไปวิ่งเล่น แต่มักจะเป็นเด็กที่สนใจดูนาน 30 นาที ต่อเนื่องเป็นชั่วโมง หรือดูวิดีโอซีดีได้จนจบแผ่น
และนานมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่ออายุมากขึ้น
อาจดูซ้ำๆ หลายรอบ และมักมีอารมณ์ร่วมกับเนื้อหาที่ดู หัวเราะ หรือลุกขึ้นมาเต้นตาม
สำหรับอาการที่พบในเด็กปกติ ที่ต้องย้ำว่าเป็นเด็กปกติ เพราะในรายที่ได้รับผลกระทบรุนแรงอาจมีอาการคล้ายเด็กที่เป็นออทิสติก จนบางครั้งกุมารแพทย์บางท่านวินิจจัยว่าเป็น “ออทิสติก”
คำที่ธรรมดามากสำหรับแพทย์ผู้วินิจฉัยจำแนกโรค แต่ทำร้ายจิตใจ และส่งผลที่รุนแรงต่อผู้ปกครอง รวมถึงตัวเด็กอย่างมากมาย
การดูทีวีตั้งแต่อายุน้อย ด้วยจำนวนชั่วโมงที่นาน นพ. กมล บอกว่า ส่วนใหญ่จะมีพัฒนาการทางภาษาและสังคมล่าช้า เนื่องจากขาดการกระตุ้น ขาดการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้เลี้ยงดู ซึ่งทางการแพทย์มักใช้คำว่า Improper stimulation หรือ Psychosocial deprivation
เหตุเพราะทีวี เคเบิ้ลทีวี ดีวีดี เกม รวมถึงเพลง ทั้งการฟังเพลงอย่างเดียว หรือในลักษณะของภาพพร้อมด้วยเพลงที่เกิดขึ้นซ้ำๆ จัดเป็นการสื่อสารทางเดียว (One way communication) ที่ไม่ว่าเด็กจะยิ้ม หัวเราะ หรือเอื้อมมือไปสัมผัส ทีวีไม่เคยตอบสนองกลับมาเลย

“คล้ายคน แต่ไม่ใช่คน เพราะไม่มีปฏิสัมพันธ์”
ในพ่อ แม่บางรายที่เปิดวีดีโอซีดีรายการเด็ก อย่าง เทเลทับบี้ บาร์นี่ ซึ่งเป็นภาษาอังกฤษให้ลูกดูตั้งแต่ในวัย 1 ขวบเศษ เพราะคิดว่าลูกจะได้มีพัฒนาการภาษาที่ 2 ดี
หรือการที่เปิดดนตรีบรรเลงให้ลูกฟัง เพื่อเสริมสร้างพัฒนาการทางสมอง
ล้วนแต่เป็นการเข้าใจผิด ตรงกันข้ามอาจเป็นการทำร้ายลูกโดยไม่ตั้งใจ เหตุเพราะตกเป็นเหยื่อของโฆษณา และการตลาด
สิ่งที่ นพ.กมล แนะให้ พ่อ แม่ ผู้ปกครองสังเกตจากความพยายามที่จะเสริมสร้างพัฒนาการให้กับลูก ด้วยการสื่อสารทางเดียว คือ ลูกพูดช้า มีภาษาแปลกๆ ฟังไม่ค่อยรู้เรื่อง เรียกไม่หัน และไม่ทำตามสั่ง

ทั้งหมดนี้อธิบายได้ด้วย 2 ทฤษฎี คือ
ทฤษฎีที่หนึ่ง การตัดแต่งกิ่งไม้ (pruning) หรือการสูญหายไปของจุดเชื่อมต่อของใยประสาทในสมอง
ในสมองของคนเราจะมีเซลล์ประสาทสมอง (neurons) และมีใยประสาท (dendrite) จำนวนมากรับกระแสประสาทขาเข้า ซึ่งส่งมาจากส่วนส่งออก (axon) ของเซลล์ประสาทอื่นด้วย
ขณะที่เซลล์ประสาทสมองจะมีปฏิกิริยาตอบสนองโดยสั่งการเป็นกระแสไฟฟ้าและสารเคมีไปสื่อสารกับเซลล์อื่น
ยิ่งเซลล์ประสาทมีการใช้งานบ่อย ก็จะรวมกันเป็นกลุ่ม ดังนั้นทุกอย่างที่เด็กถูกกระตุ้นผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 จะถูกเปลี่ยนเป็นกระแสไฟฟ้าไปยังจุดเชื่อมต่อของใยประสาท (synapse) เพื่อสื่อสารกับเซลล์ประสาทสมองอื่นๆ จุดเชื่อมต่อที่แข็งแรงจะถูกเลือกเก็บไว้
ถ้าไม่ถูกใช้ จุดเชื่อมต่อใยประสาทที่ไม่ได้สื่อสารกับเซลล์ประสาทสมองอื่นจะหมดสภาพคล้ายการเชื่อมต่อกับเซลล์อื่น ในที่สุดจะลีบฝ่อตายไปเหมือนกิ่งของต้นไม้ (pruning)
หรืออีกนัย อันไหมไม่ใช้ก็ตัดทิ้งไป (use it or lose it)
และมีการประเมินกันว่าเด็กจะเสียจุดเชื่อมต่อใยประสาทประมาณ 20 พันล้านต่อวัน เช่นเดียวกับที่เชื่อว่าเด็กในวัยประมาณ 2 ขวบ จะมีการสร้างใยประสาทในสมองมากเป็น 2 เท่าของจำนวนที่ใช้จริง
จากทฤษฎีนี้อธิบายได้ว่า เด็กจะได้รับการกระตุ้นเฉพาะในส่วนของภาครับ ในเด็กบางรายจะสามารถทำตามคำสั่งได้ เข้าใจในสิ่งที่พ่อ และแม่ พูด แต่ไม่สามารถพูดเป็นคำได้ เนื่องจากภาคส่งไม่ได้รับการกระตุ้น
ซึ่งในความจริง 2 ขวบแรก นับเป็นโอกาสทองของเด็กในการเรียนรู้

ทฤษฎีที่สอง เซลล์กระจกเงา (Mirror Neuron)
เซลล์สมองจะได้รับการกระตุ้น เมื่อเห็นการเคลื่อนไหว แต่ภาพที่เคลื่อนไหวในทีวีเป็นการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ ขณะที่ภาพในชีวิตความเป็นจริงไม่ได้เคลื่อนไหว หรือปรับเปลี่ยนเร็วเท่าในจอทีวี
ทั้งหมดนี้ส่งผลให้ภาครับของเด็กได้รับการกระตุ้นไปในทางที่ผิดเพี้ยน ในเด็กบางรายที่ดูทีวีด้วยจำนวนชั่วโมงที่มากๆ อาจเกิดอาการคล้ายโรคสมาธิสั้น อาทิเช่น ซน ไม่สามารถอยู่นิ่งๆ ทำโน่นนิดแล้วเปลี่ยนมาทำนี่หน่อย หรือเปลี่ยนสิ่งที่สนใจบ่อยๆ รวมถึงไม่สนใจทำอะไรนานๆ ซึ่ง นพ. กมล บอกว่าอาการมักจะมาแสดงออกมากขึ้น ในเด็กที่อายุตั้งแต่ 2 ขวบขึ้นไป
นอกจากอาการที่กล่าวมาในข้างต้น ในเด็กที่อายุมากขึ้นและยังคงดูทีวีอย่างต่อเนื่อง ยังพบว่า ในบางเด็กบางรายไม่ค่อยสื่อสาร หรือมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น
เด็กที่ดูทีวีจึงเรียนรู้แต่การรับอย่างเดียว ไม่รู้ถึงรูปแบบของการส่งหรือการสื่อสารออกไป ซึ่งจะทำให้เด็กสูญเสียโอกาสทางการเรียนรู้ในด้านอื่นๆ ที่จะช่วยเสริมสร้างพัฒนาการ
เมื่อไม่สามารถสื่อสารให้คนอื่นเข้าใจได้ อาการหงุดหงิดขี้โมโหก็จะเกิดขึ้นและกลายเป็นนิสัยไปในที่สุด
ปัญหาต่างๆ ยังคงต่อเนื่องไปถึงในห้องเรียน แม้ว่าโรงเรียนจะช่วยให้ปริมาณการดูทีวีของเด็กลดลง แต่ด้วยพัฒนาการทางด้านภาษาและสังคมที่ล่าช้า ย่อมส่งผลถึงโอกาสในการเรียนรู้ด้อยกว่า หรือช้ากว่าเด็กที่มีพัฒนาการสมวัย
เด็กบางคนที่มีปัญหามากอาจไม่สามารถเรียนร่วมกับเด็กปกติทั่วไปได้ ทั้งๆ ที่แรกเกิดไม่ได้มีความผิดปกติแต่อย่างใด
ในกลุ่มที่สามารถผ่านขั้นตอนของการคัดเลือกมาได้ แต่ถ้ายังคงดูทีวีในปริมาณที่มาก และเพิ่มมากขึ้น สิ่งที่พบตามมาคือ ผลการเรียนที่แย่ลง เพราะความสนใจทั้งหมดไปอยู่กับทีวี เด็กบางคนเคยเรียนดี ก็เรียนตกลง บางคนถึงกับต้องสอบซ่อมก็มี
สำหรับเด็กที่มีอายุ 5 ปีแล้ว ไม่พูดเป็นเลย นพ.กลม บอกว่ามักมีผลกับสติปัญญาร่วมด้วย
เด็กที่โตขึ้นทีวีอาจบิดเบือนการรับรู้ ทำให้เด็กไม่สามารถแยกแยะระหว่างจินตนาการและความเป็นจริงได้ บางรายก้าวร้าวรุนแรง เวลาโกรธมักจะแสดงสีหน้าท่าทางเหมือนในหนังที่ดู
โรคอ้วนเป็นอีกอาการที่ นพ. กลม มักพบร่วมกับเด็กที่ดูทีวีมากๆ เนื่องจากระหว่างดูก็จะกินของว่าง อาทิ น้ำอัดลม ขนม
และในเด็กกลุ่มนี้มักจะไม่ค่อยออกกำลังกาย
เมื่อไหร่ และอาการระดับไหนถึงจะเรียกว่าเด็กติดทีวี อยู่ในภาวะเสี่ยง ตรงนี่ นพ. กลม แนะว่า พ่อ แม่ ผู้ปกครองต้องสังเกตบุตร หลาน อย่างใกล้ชิด ซึ่งเกณฑ์อันตรายที่ตั้งไว้ คือ
2 ขวบ ยังไม่พูดเป็นคำที่มีความหมาย จากเด็กทั่วไปที่ภาคส่งเริ่มขึ้นเมื่ออายุ 1 ขวบ
1.6 ขวบ ไม่ตอบสนอง ไม่ทำตามคำสั่ง ขณะที่เกณฑ์ทั่วไปของเด็กพัฒนาการสมวัยภาครับจะเริ่มตั้งแต่ 9-10 เดือน
ทั้งนี้หากภาครับ หรือภาคส่ง ส่วนใดส่วนหนึ่งผิดปกติก็ควรต้องให้กุมารแพทย์เฉพาะทางช่วยวินิจฉัย
พร้อมกันนี้ นพ.กมล ยังย้ำว่า หากไม่แน่ใจไม่ควรใจเย็น เพราะยิ่งรู้เร็ว ได้รับการบำบัดเร็ว โอกาสที่เด็กจะกลับมามีพัฒนาการที่สมวัยก็จะมีสูง และเร็ว
ที่สำคัญ ปิดทีวีไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่คิด และทีวีก็ไม่ใช่เครื่องมือเลี้ยงเด็กในทุกกรณี

ที่มา : http://www.bangkokbiznews.com

ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม