รับมือ..จอมดื้อ:(


 บางครั้งลูกน้อยวัยเตาะแตะของเราช่างน่ารักอะไรอย่างนี้ ช่างพูดช่างเจรจา ชอบเรียนรู้ อยากรู้อยากเห็นไปซะหมดจนบางครั้งเราก็นึกว่า ลูกเรานั้นเป็นนางฟ้าหรือเทวดาตัวน้อยๆ แต่บางครั้งบางคราว เมื่อนางฟ้าหรือเทวดาตัวน้อยๆ ของเรานั้น เขาอารมณ์เสีย หรือ รมณ์บ่จอย ความน่ารักที่มีเมื่อกี้ มันหายวับไปกับตา ความช่างพูดช่างคุย กลายเป็นความช่างเถียง ช่างไม่ยอม ความชอบเรียนรู้ อยากรู้อยากเห็น กลายเป็นช่างซุกซน พูดก็ไม่ฟัง ห้ามก็ไม่เชื่อ แล้วเราพ่อแม่จะทำยังไงดี

เข้าใจลูก เด็กก็เป็นแบบนี้แหละ
  
เด็กในช่วงวัย 1-3 ขวบนั้น เป็นวัยกำลังดื้อ ดื้อก็คืออาการไม่เชื่อฟัง ไม่ทำตามที่เราบอก เป็นธรรมดาค่ะ เพราะลูกในวัยนี้อารมณ์จะขึ้นๆ ลงๆ ไม่ยอมยืดหยุ่น ยังยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง จะเอาอะไรก็ต้องเอาให้ได้อย่างใจ ชอบทำอะไรแผลงๆ เพื่อเรียกร้องความสนใจ (หรือบางครั้งด้วยความอยากรู้อยากเห็นจริงๆ) และบางครั้งเขายังอยากให้สิ่งต่างๆ รอบตัวเป็นไปตามที่เขาอยากให้เป็นด้วย ไม่ว่าจะเป็นการเลือกเสื้อผ้าที่อยากใส่ หรือการให้คนอื่นทำตามที่ตัวเองต้องการ

  
นอกจากนี้แล้ว วัยนี้เริ่มมีความคิดเป็นของตัวเอง มีความต้องการ ของตัวเอง และต้องการอิสระ ดังนั้นเขาจึงชอบทำตามใจตัวเองค่ะ แถมความต้องการที่มีอยู่ในใจมันมากและเร็วกว่าที่ร่างกายเขาจะตอบสนองได้ (ทันใจ) บางครั้งพอไม่ได้อย่างใจก็ร้องไห้เสียงดังลั่น ไม่ก็โมโห หงุดหงิดหรือไม่ก็ขว้างปาของใกล้มือ ไม่สนใจว่าของนั้นจะเป็นอะไร บางรายก็ลงไปชักดิ้นชักงออยู่ที่พื้น

  
คุณพ่อคุณแม่หลายคนคงเคยเจอสถานการณ์แบบนี้มาบ้างมากน้อยแตกต่างกันไป แล้วเราที่เป็นพ่อแม่จะรับมือกับความดื้อแบบนี้ยังไงดีนะ จะทำยังไงให้ลูกหายดื้อ โดยไม่ทิ้งนิสัยที่ไม่พึงประสงค์ไว้ให้กับเขาเป็นมรดก
ใจเย็น...ใจเย็น คาถาแก้ปัญหา
  
สิ่งที่พ่อแม่อย่างเรามักจะคิด เมื่อลูกดื้อเกินกว่าจะรับได้ก็คือ น่าตีจริงๆ เด็กคนนี้ ทำไมเป็นอย่างนี้นะหยุดนะคะ อย่าเชียว อย่าให้มือไวตามที่ใจคิด เพราะการแก้ปัญหาลูกดื้อ ด้วยการตีนั้น ช่วยหยุดพฤติกรรมนั้นได้ก็จริงค่ะ แต่พร้อมกันนั้น เราก็ได้ค่อยๆ ปลูกต้นความคิดเล็กๆ ให้ลูกว่า ลูกสามารถ แก้ปัญหาต่างๆ ได้ด้วยความรุนแรง ดังนั้น ครั้งต่อไปเมื่อเขาไม่พอใจ เขาก็จะใช้กำลังแก้ปัญหาค่ะ

  
ดังนั้น คาถาที่คุณพ่อคุณแม่ต้องท่องให้ขึ้นใจก็คือ ใจเย็น...ใจเย็น อย่าอารมณ์ขึ้นไปกับลูกด้วย ปล่อยให้ลูกแสดงอารมณ์ให้เต็มที่ค่ะ ให้เขาระบายออกอย่างที่ต้องการ จะดีดดิ้น จะกรีดร้องอย่างไร ปล่อยเขาทำให้เต็มที่ แต่ต้องดูว่าลูกจะไม่กลิ้งไปโดนอะไรจนได้รับอันตรายเข้า หลังจากที่เขาได้ระบายแล้ว เขาจะอารมณ์เย็นลง แต่ถ้าเห็นว่าลูกแสดงอารมณ์ที่ไม่เหมาะสม คุณอาจจะเข้าไปกอดลูก เพื่อให้ลูกสงบลง

  
จากนั้นก็ค่อยคุยกับเขาด้วยเหตุผลค่ะ การให้เหตุผลสั้นๆ ง่ายๆ ตรงไปตรงมา จะช่วยให้ลูกเข้าใจสิ่งต่างๆ ได้ดีขึ้น ทั้งนี้ต้องรับฟังเขาด้วยนะคะ เรามีเหตุผลของเรา เขาก็มีเหตุผลของเขา เอาเหตุผลขึ้นมาคุยกัน นอกจากจะหายดื้อแล้วยังช่วยให้เขาเรียนรู้ได้ว่า การแก้ปัญหาต้องใช้เหตุผลค่ะ
สิ่งที่ไม่ได้...ก็คือสิ่งที่ไม่ได้
  
คุณพ่อคุณแม่ต้องมั่นคง ถ้าสิ่งไหนที่ยอมไม่ได้ ก็ต้องไม่ยอมนะคะ อย่าสร้างความงงให้ลูกด้วยการเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา บางครั้งบอกได้บางครั้งบอกไม่ได้ ลูกจะสับสน ไม่รู้ว่าจะต้องทำตัวอย่างไรดี ที่สำคัญสิ่งที่ลูกทำไม่ได้ของคุณพ่อคุณแม่ต้องเหมือนกันนะคะ ไม่ใช่พ่อบอกได้ แม่บอกไม่ได้ หรือยายบอกหยุด ย่าสนับสนุนให้ทำ เพราะจะทำให้เด็กไม่เชื่อฟัง เด็กก็จะเข้าหาคนที่ตามใจเขามากกว่า และจะไม่ยอมเชื่อฟังคนที่ไม่ตามใจเขาเลย สุดท้ายสิ่งที่เราเพียรพยายามจะปลูกฟังให้ลูกก็จะสูญเปล่าค่ะ

  
ในเวลาที่ต้องบอกลูกว่า ไม่ให้ทำ หยุด หรือ ห้ามทำ คุณพ่อคุณแม่ต้องแสดงความหนักแน่นและจริงจัง ใช้น้ำเสียง ให้รู้ว่าเราห้ามจริงๆ หากไม่ได้ผล ก็ให้แสดงท่าทางประกอบ บอกให้เขารู้ทั้งทางน้ำเสียงและท่าทางว่าเราห้ามจริงๆ เขาจะได้หยุดพฤติกรรม

ลงโทษบ้างก็ได้นะ (แต่เอาเท่าที่จำเป็น)
  
เมื่อลูกเกิดอาการดื้อ ไม่ว่าจะเสนออะไรให้ ลูกก็ไม่เอา บอกให้หยุดก็ไม่หยุด ยังอยากจะดื้อเอาแต่ใจตัวเอง เราก็ต้องทำโทษเขาค่ะ วิธีการลงโทษลูกเพื่อให้หยุดความดื้อมีหลายวิธี เช่น ใช้น้ำเสียงห้ามเด็ดขาด แยกลูกออกไปอยู่ตามลำพัง แต่ต้องเป็นในสถานที่ที่ลูกรู้สึกปลอดภัยและคุ้นเคย ถ้าเป็นสถานที่กว้างก็จะดีกว่าห้องแคบๆ ค่ะ ส่วนการตีนั้นอย่างที่บอกแม้ว่าจะหยุดพฤติกรรมได้ แต่ไม่สามารถแก้พฤติกรรมได้ ลูกจะรู้ว่าต้องหยุด แต่ไม่รู้ว่าจะต้องทำตัวอย่างไรต่อไป นอกจากนี้แล้วการตียังเป็นการทำลายความสัมพันธ์ของผู้ใหญ่กับเด็กด้วยค่ะ
หยอดคำหวานเมื่อลูกทำดี
  
คำหวานๆ สิ่งรางวัลชั้นยอด ที่จะทำให้ลูกมีพฤติกรรมเป็นเด็กดี เป็นวิธีการง่ายๆที่ได้ผลดี เมื่อลูกทำดีชมเชยลูกทันที ให้กำลังใจว่าลูกทำได้ดีแล้ว ให้ทำต่อๆ ไป แต่ต้องระวัง อย่าให้คำชมแบบไม่มีเหตุสมควร เพราะมันจะสร้างนิสัยทำดีเพื่อหวังผลตอบแทน แม้ว่าผลตอบแทนนั้นจะเป็นแค่คำชมก็ตาม เพราะถ้าลูกติดคำชม
วันไหนไม่ได้รับคำชม วันนั้นก็จะกลายเป็นวันที่เศร้าหมองสำรับเขา และกลายเป็น
สิ่งบั่นทอนกำลังใจลูกค่ะ

เป็นแบบอย่างที่ดี..นี่คือสิ่งสำคัญที่สุด
  
ทราบไหมคะว่า พฤติกรรมหลายๆ อย่างที่ลูกแสดงออก เป็นผลมาจากประสบการณ์และการเลี้ยงดู และวิธีการที่ลูกช่วงวัยนี้ใช้ในการเรียนรู้ ซึ่งถือเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพและมีอิทธิพลต่อลูกมากที่สุด ก็คือ การเลียนแบบ ลูกจะเลียนแบบและทำตามพฤติกรรมต่างๆ ที่พ่อแม่หรือบุคคลรอบตัวเขาปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นลักษณะการพูดจา ท่าทาง และพฤติกรรมที่มีต่อเหตุการณ์ต่างๆ ดังนั้น ถ้าคุณพ่อคุณแม่แสดงให้เขาเห็นเสมอว่า คุณพ่อคุณแม่แก้ปัญหาด้วยเหตุผล ใจเย็น และไม่โวยวาย ลูกก็จะเรียนรู้และเลียนแบบพฤติกรรมนั้นค่ะ

  
สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่พ่อแม่อย่างเราไม่ควรมองข้ามก็คือ ความเข้าใจกันในครอบครัว มีเด็กหลายคนที่แสดงพฤติกรรมดื้อ เพราะมีสาเหตุมาจากการไม่เข้าใจกันในครอบครัว ทุกคนล้วนมีเหตุผล ทั้งคุณพ่อคุณแม่และคุณลูก ดังนั้น การรับฟังซึ่งกันและกันจึงถือเป็นแนวทางที่จะสร้างความสุขในครอบครัวได้ดี สร้างครอบครัวให้อบอุ่น รับมือกับความดื้อของลูกด้วยความรักและความเข้าใจ เรื่องความดื้อของลูกก็จะกลายเป็นสีสันในชีวิตของคุณพ่อคุณแม่ค่ะ



ที่มา : Mother&Care Vol.2 No.17 May 2006 


ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม