ห่วงใยสมอง



โดย ผศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์



สมองของคนเป็นประติมากรรมชิ้นเอกของธรรมชาติ ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโลกอย่างไม่หยุดหย่อน ไม่ว่าบางครั้งผลงานของสมองคนจะออกไปในทางสร้างสรรค์โลก หรือบางครั้งจะออกไปทางทำลายก็ตาม แต่กิจกรรมทุกอย่างที่เกิดมาจากสมองก็มีความซับซ้อนยากที่เครื่องกลชนิดใดที่มนุษย์สร้างขึ้นจะลอกเลียนแบบได้



สมองคนมีโตมีแก่ ก็เหมือนกล้ามเนื้อในร่างกายที่ต้องหมั่นใช้งานไว้เสมอ มิฉะนั้นจะฝ่อลีบได้ สมองที่ได้รับการดูแลดีมีการฝึกฝน เปรียบเช่นนักเพาะกายที่ฝึกหนัก กระทั่งมีกล้ามเนื้อแข็งแรงงดงาม ดร.เอเมอร์ ได้เตือนด้วยความห่วงใยว่า อย่าปล่อยให้เด็กๆ ดูทีวีมากนักเพราะอาจทำให้โง่ลง เนื่องจากสมองไม่ค่อยได้ทำงาน



ควรที่คุณพ่อคุณแม่จะต้องฝึกให้เด็กๆ รู้จักบริหารสมองด้วยการเล่นหมากรุก เล่นเกม (เกมที่ต้องใช้ความคิดอ่านแก้ปัญหานะครับ ไม่ใช่เกมมวยปล้ำหรือเกมยิงกระฉูดเลือดสาดทั้งหลาย) ปริศนาอักษรไขว้ เรียนภาษาต่างประเทศ ฝึกเล่นเครื่องดนตรีชนิดต่างๆ และการฝึกสมองที่ดีอีกอย่าง คือการอ่านหนังสือครับ เด็กๆ ที่มีนิสัยรักการอ่าน สมองจะไม่เสื่อมเมื่ออายุมาก



นอกจากให้ลูกๆ ได้ใฝ่รู้ใฝ่เรียน เพื่อบริหารสมองดังกล่าวแล้ว คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ควรหลงลืม ในการดูแลและระมัดระวัง สมองของเด็กๆ ให้ปลอดภัยจากภยันตรายในทุกรูปแบบ ด้วยการกระทบกระเทือนต่อสมองที่รุนแรงอาจส่งผลให้เกิดภาวะเลือดออกในสมอง สมองบวม สมองช้ำ ก่อให้เกิดการหมดสติ ชัก ไม่หายใจ เป็นอันตรายต่อชีวิตแบบเฉียบพลันได้ ในกรณีไม่รุนแรง ถ้าเกิดบ่อยครั้งอาจส่งผลระยะยาวต่อการเรียนรู้ของเด็กได้เช่นเดียวกันครับ



 



สมองทารก โตเร็วสุด บอบบางสุด



 



เด็กสองปีแรกนับได้ว่าเป็นวัยที่สมองโตเร็วสุด จะสังเกตได้ว่าศีรษะเด็กวัยนี้จะโตเร็วมาก โดยโตจาก 35 เซนติเมตรแรกเกิดกลายเป็น 49 เซนติเมตรเมื่ออายุ 2 ปี หลังจากนั้นโตปีละ 0.5 เซนติเมตรเท่านั้น เนื้อสมองที่โตขึ้นอย่างเร็วจะทำให้เด็กมีความสามารถมากขึ้นตามลำดับ จากเดินไม่ได้ พูดไม่ได้ จนเดินได้ ปีนป่ายได้ พูดโต้ตอบได้ เถียงได้ หากเกิดการกระทบกระเทือนสมองเสียหาย พัฒนาการเด็กก็อาจหยุดชะงัก



§         ตกเตียง โซฟา โต๊ะ อันตรายต่อสมองอาจเกิดได้จากการตกกระแทก ทำให้เกิดภาวะสมองช้ำ เลือดออกในสมอง หรือเกิดจากการหนีบคอ ห้อยโต่งเต่งทำให้ขาดอากาศหายใจ



ในเด็กวัยก่อนเรียน 4 เดือน ยังพลิกคว่ำไม่ได้ พ่อแม่หลายท่านอาจคิดไม่ถึงว่าเด็กอาจตกที่สูงได้ อย่าลืมนะครับว่าเขาสามารถใช้เท้าดันตัวหรือถีบตัวได้แล้ว และหลายคนก็พลิกคว่ำได้เร็วกว่าที่คุณคิด เด็กวัย 4-6 เดือน จะหงายได้ คว่ำหงายๆ เรียกว่ากลิ้งได้ ดังนั้นเด็กวัยนี้มีความเสี่ยงต่อการตกสูง หากวางเด็กไว้บนที่สูงจะต้องมีผู้ใหญ่เฝ้าใกล้ชิดในระยะคว้าได้เสมอ การจัดที่นอนที่ดีที่สุดคือ การใช้เตียงเด็กที่มีราวกันตกและมีระยะห่างของซี่ราวไม่เกิน 6 เซนติเมตร หรือหากต้องการนอนใกล้ๆ เขาก็ให้ปูผ้าหรือใช้เบาะที่นอนวางบนพื้น (โดยไม่ใช้เตียงผู้ใหญ่) เถิดนะครับ จะปลอดภัยกว่า



§                                 อย่าเขย่าตัวเด็ก ผู้ใหญ่บางคนหงุดหงิดฉุนเฉียว โดยเฉพาะเวลาเด็กร้อง พ่อแม่อาจไม่ได้ตั้งใจให้เขาได้รับอันตรายรุนแรง เพียงอารมณ์โกรธชั่ววูบและต้องการให้เงียบเท่านั้น แต่การทำดังกล่าวส่งผลให้เกิดภาวะเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมอง สมองบวม ทำให้มีอาการหมดสติ หยุดหายใจ ส่งผลให้เสียชีวิตได้ หรือถ้ารอดอาจทำให้เกิดภาวะปัญญาอ่อนหรือพิการได้ บางครั้งอาจทำให้มีเลือดออกในประสาทตา เกิดการสูญเสียการมองเห็น บางคนเขย่าอย่างเดียวไม่พอ ยังจับเด็กกระแทกกับหมอนหรือที่นอนแถมไปด้วย นั่นยิ่งทำให้สมองของเด็กเสี่ยงต่อการเลือดออกอีก 50 เท่าตัว



§                                 อย่าใช้กันเลยรถหัดเดิน รถหัดเดินช่วยให้เด็กเดินเป็นเร็วขึ้นนั่นคือความคิดตกยุคครับ ความเข้าใจผิดๆ ที่ยังอยู่ ทำให้สินค้าตัวนี้ยังขายได้แม้ในปัจจุบัน ทั้งที่ควรจริงก็คือ เด็กที่อยู่ในรถหัดเดินหลายชั่วโมงต่อวันจะมีพัฒนาการเดินช้ากว่าปกติ หนำซ้ำจากการวิจัยพบว่าเด็ก 1 ใน 3 ที่ใช้รถหัดเดินต่างก็เคยบาดเจ็บกันมาแล้ว ทั้งเจ็บน้อยและเจ็บมาก อันตรายที่พบบ่อยก็คือ การพลิกคว่ำตกจากที่สูง หรือพื้นบ้านที่มีความต่างระดับ หรือการที่เด็กไถไปอย่างเร็ว แล้วสะดุดกับอะไรก็ตามจนรถพลิกทำให้แขนขา ใบหน้าได้รับบาดเจ็บ และที่สำคัญที่สุด ก็คือ ศีรษะได้รับการกระทบกระเทือนจนมีเลือดออกในสมอง






 


เด็กเล็กชอบสำรวจรอบบ้าน



เด็กอายุหนึ่งปีขึ้นไป มีการตายการเจ็บป่วยจากอุบัติเหตุมากขึ้นกว่าวัยทารกอย่างชัดเจน ปัจจัยที่สำคัญคือการเคลื่อนไหวของเด็กที่มากขึ้น เด็กเล็กมีกล้ามเนื้อคอที่อ่อนและมีสัดส่วนของน้ำหนักศีรษะมาก เมื่อเปรียบเทียบกับเด็กโตและผู้ใหญ่ ทำให้เมื่อมีการตกหรือกระแทก ศีรษะจะเป็นส่วนนำของร่างกาย ที่มีโอกาสได้รับการบาดเจ็บสูง เช่น การตกที่สูง ศีรษะเด็กจะร่วงเป็นส่วนนำคล้ายลูกแบดเสมอ ดังนั้นเด็กวัย 2-6 ปี ต้องอยู่ในสายตาพ่อแม่ เคลื่อนไหวในพื้นที่ที่พ่อแม่ตรวจสอบแล้วว่าไม่มีอันตราย และมีระยะห่างจากพ่อแม่ไม่เกินกว่าระยะที่จะเข้าถึงตัวได้ทันที



เด็กวัยนี้มักใช้เวลาส่วนใหญ่ในบ้าน ภัยต่อสมองจึงเกิดขึ้นได้จากภายในบ้านเราเอง เริ่มจาก



บันได ระเบียงบ้าน บันไดควรมีที่กั้นทั้งทางขึ้นและทางลง เพื่อไม่ให้เด็กปีนขึ้นลงได้ ระเบียงควรมีราวกั้น ซี่ราวที่กั้นระเบียงหรือบันไดควรมีความห่างไม่เกิน 9 ซม. เพราะหากขนาดกว้างกว่านี้เด็กจะสามารถลอดตกได้ ถึงแม้จะไม่ลอดตกก็อาจเกิดภาวะศีรษะติดค้างขาดอากาศหายใจได้



      หน้าต่าง ทั้งหลายต้องสูงจากพื้นประมาณ 1 เมตร เพื่อไม่ให้เด็กเล็กปีนป่ายได้ ไม่วางของ เช่น กล่อง โต๊ะ เก้าอี้ที่เด็กจะปีนป่ายต่อไปยังหน้าต่างได้ ถ้าเป็นคอนโดฯ แฟลต ตึกสูงต้องออกแบบให้ดี ไม่ให้เด็กสามารถปีนป่ายออกนอกหน้าต่างได้



ห้องน้ำ จุดลื่นล้ม กระแทกได้ง่ายสำหรับเด็ก (เด็กหลายคนชอบเล่นซ่อนแอบในห้องน้ำอีกต่างหาก) คุณพ่อคุณแม่ต้องสนใจที่จะจัดให้ห้องน้ำ มีความปลอดภัยมากกว่าความหรูหรา โดยเลือกกระเบื้องปูพื้นห้องน้ำที่มีผิวหยาบมากกว่าประเภทเงางาม แต่เป็นต้นเหตุให้ลูกๆ และตัวคุณเองต้องลื่นล้มได้ทุกเมื่อ หลังจากที่คุณอาบน้ำหรือซักผ้าเสร็จแล้ว ล้างพื้นให้เกลี้ยง อย่าให้คราบผงซักฟอก หรือเศษสบู่หรือแป้งหลงเหลืออยู่ เพราะนั่นอาจเป็นเหตุให้ลื่นล้มหัวกระแทกพื้น นอกจากบรรดาผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดมือ ถุงเท้า ถุงน่อง ควรแขวนให้เรียบร้อย อย่าให้เรี่ยราดตามพื้น เพราะนั่นทำให้เด็กๆ หลายคนเหยียบและลื่นล้มจนหัวฟาดพื้น อ่างล้างมือ เป็นอีกจุดหนึ่งครับที่คุณควรตรวจเช็กด้วยว่า บัดนี้มันยังอยู่ในสภาพมั่นคงหรือเริ่มคลอนแล้ว เพราะใช้มานาน ถ้าเป็นกรณีหลังก็ควรเปลี่ยนหรือซ่อมให้เรียบร้อย เพราะเจ้าหนูจอมซนมักชอบโหน ปีนหรือเหนี่ยวอ่างล้างมือ ทำให้ตกกระแทกพื้นได้



ห้องนั่งเล่น มักมีเฟอร์นิเจอร์ มีของวางระเกะระกะ เด็กๆ ต้องได้รับการฝึกให้รู้จักเก็บของเล่นลงกล่องให้เรียบร้อยทุกครั้งที่เล่นเสร็จแล้ว จากนั้นผู้ใหญ่ก็ควรตรวจตราอีกครั้งว่าเก็บเกลี้ยงหรือไม่ เพื่อป้องกันไม่ให้ใครมาเดินเหยียบของเล่นแล้วสะดุดล้ม หากที่บ้านมีเด็กเล็กวัยเตาะแตะ ก็ควรระมัดระวัง มุมเตียง มุมโต๊ะ ด้วยการหาวัสดุกันกระแทกมาห่อหุ้ม



ตู้ ชั้นวางของ (โดยเฉพาะชั้นวางของที่สูงๆ หลายชั้นมักเป็นที่ชมชอบของเด็กในการปีนป่าย) ชั้นวางทีวี (โดยเฉพาะทีวีเครื่องใหญ่หนักๆ ทั้งหลาย) ต้องมีความมั่นคง ไม่ล้มง่าย อาจต้องยึดติดกับกำแพง ตู้หรือทีวีที่ล้มทับเด็กมักก่อให้เกิดการบาดเจ็บ เป็นเหตุให้มีเลือดออกในสมองหรือกระดูกต้นคอหักได้ง่าย



การบาดเจ็บในห้องครัว มักเป็นจากของมีคม และของร้อนมากกว่าการตกหรือศีรษะกระแทก อย่างไรก็ตามจะมีอุปกรณ์หนักบางอย่างที่ต้องระวังเช่นกัน เช่น เขียง อุปกรณ์ไฟฟ้าบางชนิด เป็นต้น ดังนั้นคุณแม่ต้องจัดวางเครื่องครัวให้เข้าที่ ขณะคุณแม่ทำครัวอย่าให้เด็กเล่นในครัวเป็นอันขาด





เด็กโต ผาดโผนโจนทะยาน



เด็กโตขึ้นมาหน่อยก็ไม่วายที่พ่อแม่ ต้องดูแลสมองเขาต่อไป เด็กโตเริ่มควบคุมการประสานงานของกล้ามเนื้อ และประสาทสัมผัสอื่นได้ดีขึ้น เรียกว่าไม่ค่อยซุ่มซ่าม ทะเล่อทะล่าเหมือนเด็กเล็กแล้ว แต่จะกลับกลายเป็นชอบโลดโผนโจนทะยาน ชอบใช้ความเร็วมากขึ้น การบาดเจ็บของสมองจะไม่ใช่การเดินชนหรือหกล้ม แต่กลายเป็นการบาดเจ็บจากการเล่นเสียมากกว่า




 




  • สนามเด็กเล่น ทุกครั้งที่คุณพ่อคุณแม่พาลูก หรือลูกจูงคุณพ่อคุณแม่ไปเล่นที่สนามเด็กเล่น ก่อนที่เด็กๆ จะวิ่งไปลุยเครื่องเล่นก็ขอให้สำรวจตรวจตราก่อนนะครับว่า บรรดาชิงช้า ไม้กระดก กระดานลื่น เครื่องปีนป่าย ฯลฯ สร้างถูกรูปถูกแบบติดตั้งมั่นคงหรือโยกคลอน เกรอะกรังไปด้วยสนิมหรือโทรมจนจวนพังหรือไม่ แล้วก็อย่าลืมก้มลงมองดูพื้นด้วยนะครับ ถ้าเป็นพื้นทรายที่หนานุ่ม หรือเป็นพื้นยางสังเคราะห์ ซึ่งช่วยดูดซับพลังงานจะปลอดภัยต่อเด็กๆ ก็โอเคครับ แต่หากเป็นพื้นแข็ง เช่น หิน ซีเมนต์ ยางมะตอย หรือทราบอัดแข็ง ก็ให้รีบๆ จูงลูกกลับบ้านดีกว่า เพราะสาเหตุที่เด็กๆ เสียชีวิต เนื่องจากเครื่องเล่นที่พบมากที่สุดก็คือ การล้มทับของเครื่องเล่นที่ไม่ได้จัดวางอย่างแน่นหนามั่นคง ไม่ได้มีการยึดติดพื้นหรือฝังฐานราก อีกประการหนึ่งเกิดจากการพลัดตกจากที่สูง แล้วศีรษะไปกระแทกกับพื้นแข็งผลก็คือ เลือดออกในสมอง พฤติกรรมการเล่นที่ไม่บันยะบันยัง ก็มักจะนำเหตุร้ายอันน่าเศร้ามาให้ เช่น ต้นเดือนพฤศจิกายน 2547 หนังสือพิมพ์ลงข่าวอุบัติเหตุเกิดขึ้นในโรงเรียนที่จังหวัดสุพรรณบุรี เพราะเด็กชายชั้นประถมปีที่ 2 จำนวน 4 คน โล้ชิงช้าแข่งกัน ใครแกว่งได้สูงกว่าคนนั้นชนะ แต่ยังไม่ทันรู้ว่าใครชนะชิงช้าก็ล้มครืน เพราะทานแรงโล้อันหนักหน่วงของเด็กทั้ง 4 ไม่ไหว ผลก็คือ เด็ก 3 คนบาดเจ็บ ส่วนคนที่ 4 โดนเสาชิงช้าล้มทับกลางหน้าผากอย่างจัง ทำให้สมองบาดเจ็บรุนแรงจนเสียชีวิต




  • จักรยาน สเกตบอร์ด รองเท้าสเกต สกูตเตอร์ อุปกรณ์การเล่นที่ต้องอาศัยการทรงตัว เช่น รองเท้าสเกต สเกตบอร์ด สกูตเตอร์ เป็นเครื่องเล่นอีกประเภทหนึ่งที่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บที่สมองในเด็กวัยเรียนได้บ่อย ไม่เหมาะสมสำหรับเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี เด็กอายุเกินกว่า 6 ปีต้องหัดเล่น โดยมีผู้ฝึกสอนใกล้ชิดเท่านั้นใส่อุปกรณ์เสริมความปลอดภัยทุกครั้ง ประกอบด้วยหมวกนิรภัย ซึ่งสำคัญมากสำหรับการปกป้องสมอง อุปกรณ์ก็มีความจำเป็นเช่นกันคือสนับข้อมือ (wrist guard) สนับศอก (elbow guard) และสนับเข่า (knee guard) ต้องเล่นในพื้นที่เตรียมไว้สำหรับเล่นโดยเฉพาะ หรือพื้นที่การเล่นต้องไม่เสี่ยงต่อการตกจากที่สูงและการถูกรถชน และผู้เล่นต้องได้รับการฝึกการล้มตัวที่ถูกวิธีด้วย

  • แป้นบาส เสาฟุตบอล โหม่งระเบิด แป้นบาส เสาฟุตบอล เป็นอุปกรณ์ที่มีอยู่ทั่วไปตามโรงเรียน สนามกีฬาสาธารณะทั้งหลาย บางครั้งที่สร้างขึ้นมาอย่างมักง่าย ไม่มั่นคง ล้มง่าย เด็กที่ชอบปีนป่าย เกาะโหน อาจทำให้ล้มทับได้ โดยเฉพาะหากชนกระแทกทับบริเวณศีรษะแล้ว จะก่อให้เกิดการบาดเจ็บรุนแรงต่อสมองได้ การโหม่งบอลที่ผิดวิธี เช่น การโหม่งด้วยกระหม่อม การโหม่งบอลที่ถูกส่งออกมาแรง อาจทำให้เกิดการกระทบกระเทือนต่อสมอง มีอาการมึนงงได้ ดังนั้น...เด็กๆ ที่รักในกีฬาฟุตบอล ก็ขอให้เข้าคอร์สเรียนฟุตบอลกับคุณครูผู้เชี่ยวชาญ เพื่อการเรียนรู้อย่างถูกวิธีและฝึกฝนจนชำนาญ




  • มอเตอร์ไซค์และจักรยาน อีกเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บที่สมองง่ายในเด็กวัยนี้คือการโดยสารรถมอเตอร์ไซค์ หรือการขับขี่จักรยาน สาเหตุการตายที่สำคัญที่สุดที่เกิดจากมอเตอร์ไซค์คือ การบาดเจ็บ




  • จากศีรษะกระแทกพื้น ทำให้เกิดสมองช้ำ สมองบวม เลือดออกในสมอง หมวกกันน็อกเป็นนวัตกรรมเดียวในปัจจุบันที่มีไว้ต่อสู้กับการบาดเจ็บที่ศีรษะของผู้ใช้รถมอเตอร์ไซค์และจักรยาน หมวกกันน็อกสามารถลดการตายจากอุบัติเหตุมอเตอร์ไซค์ลงได้ร้อยละ 29 และลดการตายจากการบาดเจ็บที่ศีรษะลงได้ร้อยละ 40 ผู้โดยสารที่ไม่สวมหมวกกันน็อกมีความเสี่ยงต่อการเกิดการบาดเจ็บที่ศีรษะมากกว่าผู้ใช้ประมาณ 3 เท่า สำหรับเด็กอายุเกินกว่า 6 ปี เราสามารถหาหมวกกันน็อกได้ไม่ยากเย็น ทั้งหมวกมอเตอร์ไซค์และจักรยาน ฝึกให้เด็กใช้ตั้งแต่วันนี้กันเถอะนะครับ โตขึ้นไปจะได้ติดเป็นนิสัยรักความปลอดภัย


 





  • สมองตายเพราะจมน้ำ แม้ว่าจะเขียนหรือพูดมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง ก็ยังจำเป็นต้องเขียนต้องพูดกันต่อไป ในเมื่อสถิติการตายของเด็กไทยอันดับ 1 คือการจมน้ำตายเด็กที่จมน้ำจะขาดอากาศหายใจ และสมองจะอยู่ได้เพียง 4-5 นาที จากนั้นจะเกิดภาวะสมองตาย เด็กจะเสียชีวิต หากรอดก็อาจจะพิการเหตุเพราะภาวะสมองตายดังกล่าว บางรายช่วยทันก็จริง แต่ปัญหาก็คือมักไม่รู้จักวิธีปฐมพยาบาลที่ถูกต้อง หรือบางรายก็ส่งไปโรงพยาบาลไม่ทัน จริงอยู่การฝึกให้เด็กว่ายน้ำ การดูแลเด็กให้ใกล้ชิดเป็นสิ่งที่ควรกระทำ แต่สิ่งที่สำคัญเช่นกันก็คือ การเอาใจใส่ต่อสิ่งแวดล้อมปลอดภัยขององค์กรบริหารชุมชนต่างๆ โรงเรียนและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น การสร้างรั้วรอบขอบชิดในแหล่งน้ำต่างๆ เป็นต้น


 



เด็กไทยคืออนาคตของชาติ อนาคตของชาติจะเป็นอย่างไร ย่อมขึ้นอยู่กับสมองของคนรุ่นใหม่ ที่ควรได้รับการดูแลทนุถนอมและพัฒนาจากคนรุ่นนี้ อยู่ที่เราๆ ท่านๆ ในฐานะคนรุ่นนี้จะห่วงใยเอาใจใส่ หรือปล่อยปละละเลย



 



(update 13 กรกฎาคม 2005)
[ ที่มา.. นิตยสารรักลูก ปีที่ 23 ฉบับที่ 265 กุมภาพันธ์ 2548 ]



ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม