เรื่องต้องห้าม...ในบ้าน

มีข้อคิดที่ผู้หลักผู้ใหญ่ท่านได้ให้สติกับเราไว้ประเด็นหนึ่งซึ่งเราต้องระวังมากทีเดียวในการพูดจาสนทนากับเพื่อนๆ ที่สนิทชิดเชื้อ กับคนในบ้าน ถ้ายิ่งกับคนนอกบ้านเราต้องระมัดระวังอย่างยิ่งที่ไม่ควรพูดหรืออ้างถึงเรื่องบางเรื่อง เพราะอาจเป็นเหตุก่อให้เกิดความขัดแย้งโต้เถียงกันอย่างที่ไม่สมควรจะเกิดขึ้นก็อาจเกิดขึ้นได้

------------------------------------

เรื่องไหนต้องห้าม

ประเด็นที่ว่านั้นก็คือเรื่องของการเมือง เรื่องของศาสนาและเรื่องของความเชื่อถือในตัวผู้นำของสังคม เพราะแต่ละคนจะมีระบบความเห็น ระบบความคิด ระบบความเชื่อถือและศรัทธา ตามที่ตนรับรู้รับฟังมาไม่เหมือนกัน แต่ละคนมีเหมือนกันคือ เมื่อฟังเมื่อคิดแล้วจะยึดมั่น ถือมั่นด้วยความเชื่อของตนว่าจะต้องเป็นจริงตามที่ตนยึดไว้ เชื่อไว้ แล้วอยากให้คนอื่นๆ คิดตามความเห็นของตน ยิ่งถ้าเป็นคนที่มีจริต เชื่อง่าย หลงง่าย ก็จะยิ่งเชื่อว่าต้องเป็นจริง เชื่อว่าถูกต้องโดยไม่พิจารณาสืบเสาะวิเคราะห์อย่างใคร่ครวญว่าที่จริงนั้นเป็นอย่างไร จริงหรือไม่จะไม่สนใจแต่จะเชื่อและยึดมั่นถือมั่นเข้าไปตรงๆ อย่างไม่ผ่อนปรน

ถ้าคุยประเด็นเรื่องการเมืองเรื่องของศาสนาหรือเรื่องของผู้นำของประเทศกับผู้คนที่มีแนวคิดเหมือนกันก็จะเออออห่อหมก พูดถูกคอกันเป็นอย่างดี ความเชื่อในใจที่มีอยู่แล้วจะถูกย้ำและสำทับให้เชื่อมากยิ่งขึ้น แต่ถ้าแนวความคิดไม่เหมือนกันแทนที่จะเข้าใจว่าแต่ละคนย่อมมีความคิด ความเห็นต่างกันได้ แต่กลับมีความคิดว่าทำไมคนอื่นๆ ยังเชื่อผิดๆ อยู่ได้ จากความเห็นที่ขัดแย้งร่วมกับการยึดมั่น ถือมั่น และขาดความใจกว้าง จึงทำให้เกิดอารมณ์ไม่พึงพอใจ หงุดหงิด คับข้องใจ จนกระทั่งเก็บอารมณ์ไม่อยู่ก็จะแสดงวาจา ท่าทางและอารมณ์ที่ไม่เป็นมิตร ไม่เห็นด้วย และลงท้ายด้วยความบาดหมาง และเคลือบแคลงใจ ไม่อยากพูดคุยด้วย ไม่อยากคบค้าสมาคม มิตรภาพที่เคยมีอย่างดีกันมาก่อนก็จืดจางลงและมองหน้ากันไม่ติด  ปัญหานี้มิใช่ว่าจะเกิดกับคนภายนอกหรือกับเพื่อนเท่านั้น แม้แต่กับคนในบ้านก็เกิดได้อย่างรุนแรงเช่นกัน ในช่วงนี้การเมืองมีความสับสนบางคนก็เชียร์ผู้นำของรัฐบาล บางคนก็ตำหนิผู้นำของรัฐบาล เราจึงพบว่าความขัดแย้งมิได้มีแต่ในสังคมกว้างเท่านั้น สังคมในครอบครัวก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน เช่นลูกกับพ่อมีความเห็นไม่ตรงกัน สามีกับภรรยามีความเห็นไม่ตรงกัน พี่กับน้องมีความเห็นไม่ตรงกัน ทำให้บรรยากาศภายในครอบครัวแย่ลง ความรักและความเคารพที่มีต่อกันต้องลดลงไป ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น ทำไมต้องให้เรื่องนอกบ้านต้องมาทำให้สัมพันธภาพอันดีงามในบ้านต้องมีอันจืดจางลง

อย่าเอาพิมเสนแลกเกลือ

คุณผู้อ่านเคยได้ยินคำนี้ไหมครับอย่าเอาพิมเสนไปแลกกับเกลือ” (ผู้อ่านรุ่นใหม่อาจไม่รู้จักพิมเสน พิมเสนเป็นตัวยาสมุนไพรที่มีกลิ่นหอมชื่นใจ เป็นตัวยาที่ใช้ผสมกับตำรับยาแผนโบราณ ทำให้ยามีกลิ่นหอม ลดอาการวิงเวียนศีรษะได้เป็นอย่างดี) พิมเสนจึงมีค่ามากและราคาแพงเมื่อเทียบกับเกลือที่มีราคาค่างวดถูกกว่ากันมาก ถ้าใครเอาพิมเสนไปแลกกับเกลือก็ถือว่าฉลาดน้อยหรือไม่ฉลาด  ถ้าจะเปรียบเทียบระหว่างสัมพันธภาพของสามีกับภรรยาหรือระหว่างพ่อกับลูก หรือระหว่างเพื่อนๆ ที่เคยสนิทชิดเชื้อกัน กับเรื่องของการเมืองซึ่งเป็นเรื่องนอกบ้านก็ต้องถือว่าสัมพันธภาพของคนในครอบครัวเป็นของมีค่ายิ่ง ซึ่งเปรียบเทียบได้กับพิมเสน ส่วนเรื่องนอกบ้านนั้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของความเชื่อถือทางการเมืองนั้นเปรียบเทียบกันแล้วถือได้ว่ามีค่าเทียบเท่ากับเกลือ ที่เขียนอย่างนี้มิได้หมายความว่าไม่ให้สนใจเรื่องการเมือง จริงๆ แล้วเราคงต้องให้ความสนใจเพราะเป็นเรื่องของส่วนรวมแต่ต้องสนใจด้วยปัญญา สนใจด้วยความคิดอย่างมีวิจารณญาณพินิจพิเคราะห์จนเห็นความจริงที่สุดจึงจะศรัทธาและเชื่อได้  ไม่ใช่เชื่อเพราะโฆษณา เชื่อเพราะเขาเล่าต่อๆ กันมาหรือเชื่อเพราะภาพภายนอกดูดีธรรมชาติของการเมืองเป็นเรื่องที่มาแล้วก็ไป ไปแล้วก็มา ประกอบไปด้วยบุคคลมากมายที่มีความคงเส้นคงวาได้ยาก บางทีก็หาสาระได้ยากถ้าเราจะให้น้ำหนักและความสำคัญกับเรื่องที่ไม่คงเส้นคงวาหาสาระได้ยากเราก็จะไม่ได้สาระอะไรกับชีวิตมากนัก แต่ถ้าเราเห็นว่าเราได้คิดอย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้วว่าถ้าขืนปล่อยให้สิ่งต่างๆ ดำเนินไปในทางที่ทำให้ส่วนร่วมเสียหายเราก็มีความจำเป็นและถือว่าเป็นหน้าที่ที่จะต้องร่วมด้วยช่วยกันแก้ไขเพื่อให้สังคมดีขึ้นเพื่อให้อนาคตดีขึ้น แต่ต้องไม่ทำให้ครอบครัวของเรามีความแตกแยก

แยกแยะเรื่องในและนอก(บ้าน)

เนื่องจากเจตคติและแนวคิดของแต่ละคนมีที่มา มีฐาน มีวิถีคิด มีวิถีจิตที่แต่ละคนยึดถือกันมานานเป็นแรมปี เราจึงต้องเข้าใจว่าเป็นเรื่องที่เปลี่ยนแปลงได้ยาก ยิ่งถ้าขาดโอกาสรับฟังข้อมูลที่แท้จริง  ขาดโอกาสพินิจพิจารณา ขาดการสืบเสาะให้เห็นความจริงและปิดประตูแห่งปัญญาแล้วปล่อยอารมณ์ให้มาเหนือความคิดก็ยิ่งเปลี่ยนแปลงแนวคิดของคน ๆ นั้นได้ยากมากดังนั้นเราคงต้องมีความใจกว้าง เข้าใจธรรมชาติของจิตใจคนอื่น ยอมรับความคิดเห็นของคนอื่นโดยเฉพาะบุคคลภายในครอบครัว ซึ่งไม่เพียงแต่เรื่องของการเมืองเท่านั้น เรื่องต่าง ๆ เราก็ต้องใจกว้างรับฟังเพราะทุกคนย่อมมีเหตุผลในแนวคิดของตน หลักของการพูดที่พระพุทธเจ้าท่านทรงอบรมสั่งสอนว่า การพูดต้องพูดความจริง ถ้าพูดแล้วมีประโยชน์ก็พูด ถ้าพูดแล้วไม่มีประโยชน์ก็ไม่พูดเสียดีกว่า นอกจากนี้ยังมีหลักอีกว่าพูดแล้วต้องไม่ให้คนอื่นและตนเองเป็นทุกข์และเดือดร้อน แต่ถ้าเป็นความจริงที่จะต้องเปิดเผย จะต้องพูดกันก็ควรพิจารณา เวลา สถานที่ บุคคล สถานการณ์ให้เหมาะสมแล้วจึงพูด ดังนั้นในเรื่องของการเมืองถ้ารู้ว่ามีความเห็นกันคนละขั้วก็แนะนำว่าหลีกเลี่ยงไม่พูดประเด็นนี้เสียดีกว่า เมื่อเวลาผ่านไปความจริงต่างๆ ที่ปรากฏก็จะทำให้ทุกคนยอมรับและเปลี่ยนแปลงแนวคิดได้เอง เราเองก็อาจจะมีแนวคิดที่ผิดก็ได้ ทั้ง ๆ ที่เชื่อมั่นว่าตนเองถูกมาตลอด

อย่าหงุดหงิดกันและขอให้เชื่อเถอะครับ ทำดีย่อมได้ดี ทำชั่วย่อมได้ชั่ว จะทำอะไรแม้ไม่มีใครรู้ ตนเองก็ย่อมรู้ว่าดีหรือไม่ดี แม้ตนเองจะไม่รู้หรือไม่สังเกต เทพยดาฟ้าดินย่อมรับรู้เสมอครับ

จากคอลัมน์ sex and relationtion

ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม