มารู้จัก โรค ไอ พี ดี กันเถอะ
โรคติดเชื้อ ไอ พี ดี (IPD, Invasive Pneumococcal Disease) โรคร้ายที่อาจทำลายชีวิตลูกน้อยได้ใน 2 วัน โรคติดเชื้อ ไอ พี ดี ป้องกันดีกว่าเป็นแล้วมารักษา เพราะเชื้อมักดื้อยา และต้องรักษาอย่างทันท่วงที
โรคติดเชื้อ ไอ พี ดี (IPD, Invasive Pneumococcal Disease) คือ โรคติดเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัสชนิดแพร่กระจายที่อันตรายมาก ตัวเชื้อนิวโมคอคคัสมักพบอาศัยอยู่ในโพรงจมูกหรือคอของคนทั่วไป ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ โดยส่วนใหญ่ไม่มีอาการใดๆ (เป็นพาหะ) แต่แพร่กระจายสู่ผู้อื่นได้ เพียงการ ไอ จาม สัมผัสสิ่งคัดหลั่ง โดยเฉพาะในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ที่ภูมิคุ้มกันยังต่ำ อาจติดเชื้อโรคได้ง่าย โรคติดเชื้อ ไอ พี ดี ที่มีอาการรุนแรง คือ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ และติดเชื้อในกระแสเลือด
อาการสำคัญที่พบได้ คือ
- ติดเชื้อหูน้ำหนวกที่ลุกลามเข้าสู่สมอง
- ปอดบวมหรือปอดอักเสบ
- ติดเชื้อในกระแสเลือด เกิดโลหิตเป็นพิษหรือเชื้ออาจกระจายไปสู่อวัยวะอื่นๆ
- เยื่อหุ้มสมองอักเสบ อาจเสียชีวิตหรือพิการทางสมอง
ลูกเป็นไข้..อย่านอนใจ
- อาการไข้ในเด็กเล็ก ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ซึ่งมักหายได้เอง
- อย่างไรก็ตามควรเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด เพราะบางครั้งอาจไม่ใช่ไข้ธรรมดา
- สาเหตุหนึ่งของอาการไข้ อาจเกิดจากการติด เชื้อนิวโมคอคคัส
- แม้พบไม่บ่อยแต่รุนแรง เพราะเชื้อจะลุกลามอย่างรวดเร็ว
- และหากได้รับการรักษาไม่ทันท่วงที อาจคร่าชีวิตเด็กได้ ใน 2-3 วัน
วัคซีน...ทางเลือกใหม่ป้องกัน...โรคติดเชื้อ ไอ พี ดี
วงการแพทย์ได้มีการพัฒนาวัคซีนรุ่นใหม่ที่ป้องกันการติดเชื้อ ไอ พี ดี ในเด็กเล็กได้ คือ "วัคซีนนิวโมคอคคอล ชนิดคอนจูเกต (Pneumococcal Conjugated Vaccine)" ฉีดได้ในเด็กอายุตั้งแต่ 6 อาทิตย์ ถึง 9 ปี
- ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคติดเชื้อ ไอ พี ดี
- ช่วยลดอัตราการดื้อยาปฏิชีวนะของเชื้อนิวโมคอคคัส
- ช่วยลดจำนวนเชื้อพาหะในโพรงจมูกและลำคอของเด็ก ทำให้การแพร่กระจายเชื้อลดลง จึงเป็นการป้องกันการติดเชื้อทางอ้อมสู่คนกลุ่มอื่น โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อนี้เช่นเดียวกัน
การฉีดวัคซีนสำหรับเด็กแรกเกิด
ครั้งที่ | เมื่ออายุ |
1 | 2 เดือน* |
2 | 4 เดือน** |
3 | 6 เดือน** |
4 | 12-15 เดือน*** |
* หรือเริ่มให้เมื่ออายุ 6-8 สัปดาห์
** หรือห่างกันอย่างน้อย 1 เดือน
*** หรือห่างกันอย่างน้อย 2 เดือน
การฉีดวัคซีนสำหรับเด็กอายุตั้งแต่ 7 เดือนขึ้นไป
อายุที่เริ่มให้เข็มแรก | จำนวนครั้ง (ฉีดปกติ+ฉีดกระตุ้น)* |
7-11 เดือน | 2 + 1 |
12-23 เดือน | 1 + 1 |
24 เดือน - 9 ปี | 1 |
* ฉีดปกติ ห่างกันอย่างน้อย 1 เดือน
ฉีดกระตุ้น ห่างกันอย่างน้อย 2 เดือน
ปัจจุบัน ในต่างประเทศมีการใช้วัคซีนป้องกันการติดเชื้อ ไอ พี ดี อย่างแพร่หลาย บางประเทศยังได้มีการฉีดวัคซีนนี้ให้กับเด็กทารกทุกราย โดยบรรจุอยู่ในตารางวัคซีนพื้นฐาน (EPI Program) เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส แคนาดา อิตาลี ออสเตรเลีย เป็นต้น ดังนั้นเป็นโอกาสดีที่เด็กไทยจะมีทางเลือกในการป้องกันให้ห่างไกลจากโรคร้ายเช่นเดียวกับเด็กทั่วโลก
ข้อปฏิบัติเบื้องต้นในการป้องกันโรคติดเชื้อ ไอ พี ดี ในเด็ก
| กับคนที่เป็นไข้หวัดหรือป่วย |
3. ให้ลูกกินนมแม่เพื่อให้มี
ภูมิต้านทานจากแม่ไปสู่ลูกทางอ้อม
4. การฉีดวัคซีนเป็นการป้องกันได้ดีที่สุดวิธีหนึ่ง
Q & A
เด็กกลุ่มไหนมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคติดเชื้อ ไอ พี ดี?
กลุ่มเด็กที่มีความเสี่ยงสูงคือ เด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ปี โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กที่อยู่ในสถานเลี้ยงเด็กกลางวัน เด็กที่เคยได้รับยาปฏิชีวนะมาก่อน เด็กที่เคยมีประวัติติดเชื้อในหู เด็กที่ไม่มีม้ามหรือ ม้ามบกพร่อง และเด็กที่มีภูมิต้านทานบกพร่อง หรือเป็นโรคเรื้อรังต่างๆ
จะทราบได้อย่างไรว่าลูกติดเชื้อ ไอ พี ดี?
คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตอาการของเด็ก ซึ่งอาการมักเกิดตามอวัยวะที่ติดเชื้อ เช่น โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เด็กจะมีไข้สูง คอแข็ง งอแง ซึม ไม่กินนมและชักได้ การติดเชื้อในกระแสเลือด เด็กจะมีไข้สูง ร้องกวน งอแง อาจช็อค และถ้าเป็นปอดบวม เด็กจะมีอาการไข้ ไอ หอบ หายใจเร็ว ถ้าเด็กมีอาการผิดปกติดังกล่าว ควรรีบพาไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัย
สามารถรักษาโรคติดเชื้อ ไอ พี ดี ได้อย่างไร?
แพทย์สามารถรักษาโรคติดเชื้อ ไอ พี ดี ได้โดยการให้ยาปฏิชีวนะ ซึ่งมักได้ผลดีถ้าเชื้อไม่ดื้อยาและมารับรักษาในช่วงแรกๆ แต่ในปัจจุบันเชื้อนิวโมคอคคัสดื้อยามากขึ้น ทำให้รักษาได้ยาก ต้องให้ยาขนาดสูงเป็นเวลานาน และถ้าได้รับการรักษาช้า อาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนถึงเสียชีวิตหรือพิการทางสมองได้ ดังนั้น การป้องกันโรคจึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุด
วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อ ไอ พี ดี มีผลข้างเคียงหรือไม่?
การฉีดวัคซีนก็เหมือนกับการใช้ยา ซึ่งอาจจะมีผลข้างเคียงบ้าง โดยอาจมีการระคายเคือง ปวด บวม แดง บริเวณที่ฉีด หรือมีอาการไข้ เบื่ออาหารอาการเหล่านี้ไม่รุนแรงและมักหายในเวลารวดเร็ว
ความคุ้มค่า?
จากการศึกษาทางระบาดวิทยา อุบัติการณ์การเกิดโรคติดเชื้อ ไอ พี ดี ในประเทศไทย พบได้ไม่บ่อยเท่าในต่างประเทศ แต่เมื่อเกิดขึ้น มักจะรุนแรง ดังนั้น การพิจารณารับวัคซีน ควรคำนึงถึงหลายปัจจัย เช่น ความเสี่ยงของเด็ก หรือค่าใช้จ่ายในการฉีดวัคซีน เนื่องจากวัคซีนมีราคาค่อนข้างสูง เพราะครอบคลุมเชื้อนิวโมคอคคัสที่สำคัญหลายสายพันธุ์ ทำให้การผลิตทำได้ยาก
ที่มา : ศูนย์ลูกน้อยห่างไกลโรค ไอ พี ดี
ด้วยความปรารถนาดีจาก
มูลนิธิคุณแม่คุณภาพ
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น